นักวิจัยไต้หวันเตือน น้ำมันหอมระเหย
มีการทำปฏิกิริยากับอากาศ ทำให้เกิดละอองที่สร้างความระคายเคืองแก่ดวงตา จมูก
และลำคอ รวมทั้งทำให้เกิดอาการปวดหัว คลื่นไส้ และทำลายตับกับไตได้ ขณะที่แพทย์ไทยแนะให้ใช้ในปริมาณที่เหมาะสม
สำหรับงานวิจัยชิ้นนี้
นักวิจัยได้ศึกษาขนาดและปริมาณของละอองที่เกิดขึ้นเมื่อคนเข้ารับการนวดตามสปาต่าง
ๆ โดยพบว่า น้ำมันหอมระเหยเหล่านี้สกัดจากลาเวนเดอร์ ต้นชา ยูคาลิปตัส
และเปปเปอร์มินต์ ซึ่งเชื่อกันว่าน้ำมันพวกนี้มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น ทำให้ผิวดี
เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน และช่วยให้นอนหลับ แต่นักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเภสัชศาสตร์และวิทยาศาสตร์เจียหนานในไต้หวัน
เตือนว่า ไม่ควรมองข้ามผลเสียของน้ำมันเหล่านี้ด้วย
งานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Environmental
Engineering Science ได้วัดปริมาณของละอองเหล่านี้เมื่อมีการใช้น้ำมันถูนวดในสปา
2 แห่งในไต้หวัน และพบว่า น้ำมันที่ทำให้เกิดละอองดังกล่าวเป็นจำนวนมากที่สุด คือ
น้ำมันจากลาเวนเดอร์ ต้นชา เปปเปอร์มินต์ มะนาว และยูคาลิปตัส
ซ้ำยังมีการพบด้วยว่า น้ำมันอะโรมาทำให้ผู้ป่วยโรคปอดและผู้ป่วยโรคหอบหืดมีอาการกำเริบ
นอกจากนี้ บรรดานางพยาบาลยังรายงานด้วยว่า
คนที่ใช้น้ำมันเหล่านี้ในการอาบน้ำหรือทาผิวหนังในปริมาณมากเกินไป
อาจทำให้ผิวไหม้และเกิดผื่นได้
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.สมเกียรติ ศิริรัตนพฤกษ์
ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เนื่องจากยังไม่เคยได้รับข้อมูลดังกล่าว
แต่คาดว่าในน้ำมันหอมระเหยนั้น อาจจะมีสมุนไพรที่ไม่แท้ผสมอยู่เป็นจำนวนมาก
เมื่อนำไปใช้จึงทำให้เกิดการระคายเคืองได้
โดยเฉพาะกลิ่นน้ำหอมที่สกัดมาจากสารสังเคราะห์
คุณหมอกล่าวต่อว่า
น้ำมันที่ใช้ในร้านสปานั้นประกอบไปด้วย 2 ส่วนคือ
1.น้ำมันที่สกัดจากธรรมชาติ เช่น น้ำมันมะกอก
น้ำมันดอกทานตะวัน ฯลฯ ซึ่งใช้เป็นตัวละลายน้ำหอม
และไม่ทำให้เกิดอาการแพ้เพราะเป็นน้ำมันที่สกัดมาจากธรรมชาติ
2.กลิ่นน้ำหอมที่เป็นสารสกัด
ซึ่งบางคนอาจเกิดอาการแพ้จากกลิ่นน้ำหอมเหล่านี้ จึงทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน
หรืออาการระคายเคืองต่าง ๆ
พูดง่าย ๆ
ว่าอาการแพ้ดังกล่าวนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับสารพิษ หรือสารตกค้างในน้ำมันหอมระเหย
แต่อาการแพ้นั้นขึ้นอยู่กับสภาพผิว และปฏิกิริยาตอบสนองของกลิ่นน้ำหอมที่แต่ละคนได้รับมากกว่า
ซึ่งไม่สามารถระบุได้ว่ากลิ่นน้ำหอมใดที่ทำให้แพ้
ดังนั้นสิ่งที่สำคัญสำหรับผู้ใช้บริการนั้น
ต้องสำรวจตัวเองว่ามีอาการแพ้น้ำหอมกลิ่นใด หากทราบถึงสาเหตุ
หรือมีอาการคันและมีผื่นแดงขึ้นก็ควรหยุดใช้ทันที
ในส่วนของผู้ให้บริการนั้นก็ควรใช้น้ำมันหอมระเหยในปริมาณที่เหมาะสม
ไม่ควรเกิน 30 มิลลิกรัม และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันหอมละเหยจากบริษัทที่เชื่อได้
และได้รับอนุญาตถูกต้องให้ผลิต สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้หรือโรคประจำตัว
เช่น โรคผิวหนัง โรคทางเดินหายใจ ก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้บริการ
ขอขอบคุณ ข้อมูลดี ๆ จาก http://health.kapook.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น